20.3.50

ส่วนผสมที่หะรอมในอาหาร(ฟัตวา)

คำถาม

เป็นเวลานานแล้วที่ฉันและผู้คนในชุมชนเป็นกังวลเกี่ยวกับอาหารบางชนิด เช่น เจลาติน, โมโน/ไดกลีเซอไรด์, เปปซิน, และเรนเน็ต ส่วนผสมเหล่านี้มีอยู่ในอาหารที่เราบริโภคกันทุกวันโดยที่เราไม่รู้ว่าอะไรที่เราบริโภคเข้าไปบ้างและด้วยเหตุผลอื่นๆอีก กรุณาให้รายละเอียดว่าปัญหานี้ควรจะจัดการอย่างไร ?

คำตอบ

การสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

อัลลอฮฺทรงให้ความจำเริญแก่มนุษย์ทั้งมวลด้วยอาหารหลากหลายชนิดบนโลก และพระองค์ทรงอนุญาตให้มนุษย์บริโภคสิ่งที่อนุมัติ(หะล้าล)และสิ่งที่ดีๆ ซึ่งมีมากมาย ซึ่งอัลลอฮฺได้ทรงตรัสไว้มีความหมายว่า "มนุษย์เอ๋ย! จงบริโภคสิ่งอนุมัติที่ดี จากสิ่งที่อยู่ในแผ่นดินและจงอย่าตามบรรดาก้าวเดินของชัยฏอน แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า" (อัลบะเกาะเราะฮฺ 168)

อาหารที่อัลลอฮฺทรงห้ามนั้นมีเล็กน้อย ซึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้มีความหมายว่า "จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า ฉันไม่พบว่าในสิ่งที่ถูกให้เป็นโองการแก่ฉันนั้นมีสิ่งต้องห้ามแก่ผู้บริโภคที่จะบริโภคมัน นอกจากสิ่งนั้นเป็นสัตว์ที่ตายเอง หรือเลือดที่ไหลออก หรือเนื้อสุกร แท้จริงมันเป็นสิ่งโสมม หรือเป็นสิ่งละเมิด ซึ่งถูกเปล่งนามอื่นจากอัลลอฮฺที่มัน ถ้าผู้ใดได้รับความคับขันโดยมิใช่เป็นผู้แสวงหาและมิใช่ผู้ละเมิดแล้วไซร้ แท้จริงพระเจ้าของเจ้านั้น เป็นผู้ทรงอภัยโทษ เป็นผู้ทรงเอ็นดูเมตตา" (อัลอันอาม 6-145)


ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ห้ามรับประทานสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหารที่มีเขี้ยวเล็บ, นกทุกชนิดที่มีกรงเล็บ (บันทึกโดยมุสลิม 6/60) และท่านได้ห้ามทานเนื้อลาบ้าน (บันทึกโดย al-Mukhari in al-Fath, no. 4215)


อาหารทั่วไปในปัจจุบันนี้บางชนิดหะรอมชัดเจน เช่น เนื้อจากสัตว์ที่ตายเองโดยไม่ได้เชือดอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลาม และเนื้อสุกร อาหารบางชนิดประกอบด้วยส่วนผสมที่หะรอมหรือส่วนผสมที่ผลิตจากอาหารหะรอม ซึ่งเราต้องตรวจสอบว่ามันมาจากอะไรเพื่อที่จะตัดสินได้ว่ามันหะล้าลหรือหะรอม เจลาตินนั้นมีที่มาจากหนัง กระดูกหรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่หะรอม เช่น สุกร เจลาตินที่ได้มาจากคอลลาเจนของสุกรนั้นหะรอม แม้ว่าสุกรจะเปลี่ยนสภาพเป็นเกลือแล้วก็ตาม ซึ่งในทัศนะที่ถูกต้องนั้นถือว่าหะรอม เพราะที่มาของมันคือสุกรซึ่งหะรอม


ไขมันที่เราใช้ในอาหารนั้นมีที่มาจากพืชหรือสัตว์ ถ้ามาจากพืชนั้นแน่นอนว่าหะล้าล ถ้าหากมันไม่ได้ผสมกับสิ่งที่ไม่สะอาด(นะญิส)หรือมีสิ่งปนเปื้อนอื่นใด แต่ถ้าเป็นไขมันจากสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นสัตว์ที่อนุญาตให้รับประทานหรือสัตว์ที่ไม่อนุญาตก็ได้ ถ้าหากมันมาจากสัตว์ที่หะล้าล ก็อยู่ในหุกุ่ม(กฎเกณฑ์)เดียวกับเนื้อของสัตว์นั้น แต่ถ้ามันมาจากสัตว์ที่หะรอม (เช่น สุกร) เราก็ต้องพิจารณาว่ามันใช้ในอาหารหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น

* ถ้าหากใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร เช่น สบู่ นักวิชาการมีทัศนะที่แตกต่างกัน แต่ทัศนะที่ถูกต้องคือหะรอม
* แต่ถ้าหากใช้ในอาหาร เช่น ไขมันหมูที่ใช้ในขนมหวานหรืออาหารอื่นนั้นหะรอม


สำหรับเนยแข็ง (cheese) ถ้าทำจากนมของสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้รับประทาน นักวิชาการมีมติเอกฉันท์ที่ไม่อนุญาตให้ทานเนยแข็งนั้น แต่ถ้าทำจากนมของสัตว์ที่อนุญาตให้รับประทาน และใช้เอนไซม์เรนเน็ตที่ได้จากสัตว์ที่เชือดอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลาม และไม่มีส่วนผสมที่เป็นนะญิส(ไม่สะอาด)ก็รับประทานได้ ,สำหรับเรนเน็ตได้มาจากสัตว์ตาย(ตายเองโดยไม่ได้เชือดอย่างถูกต้อง) นักวิชาบางท่านมีความเห็นว่ารับประทานได้ แต่ในทัศนะที่ถูกต้องคือมันหะรอมเช่นกัน, ส่วนเรนเน็ตจากสัตว์ที่เป็นนะญิส เช่น สุกร นั้นไม่ควรรับประทาน (ดู Ahkaam al-At’imah fi’l-Sharee’ah al-Islamiyyah by al-Tareeqi, p. 482)

มีหลายกรณีที่ไม่ชัดเจนสำหรับมุสลิม คือไม่รู้ที่มาของวัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งทางที่ดีคือให้เกรงกลัวอัลลอฮฺและหลีกเลี่ยงสิ่งที่สงสัย ดังหะดีษที่รายงานโดย อัลนุอฺมาน อิบนิบะชีร (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ) เขากล่าวว่า - ฉันได้ยินท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

"แท้จริง สิ่งอนุมัติ(หะล้าล)นั้นชัดแจ้ง และสิ่งต้องห้าม(หะรอม)ก็ชัดแจ้ง และในระหว่างทั้งสองสิ่งนั้น มีเรื่อง(หรือสิ่ง)ที่คลุมเครือ(ไม่ชัดแจ้ง) ซึ่งผู้คนส่วนมากไม่รู้ ดังนั้น ผู้ใดรักษาตัวเขาจากสิ่ง(หรือเรื่อง)ที่คลุมเครือนั้น เขาได้ชำระตัวเขาในการปกป้องศาสนาของเขาและเกียรติของเขา

ส่วนผู้ที่ตกลงไปในการกระทำสิ่งที่คลุมเครือ เขาก็ได้ตกลงไปในเรื่องที่ต้องห้าม เช่นเดียวกับผู้ที่เลี้ยงปศุสัตว์ในที่ดินที่ต้องห้าม (เช่นสวนของคนอื่น) ไม่ช้ามันก็จะเข้า(ไปกิน)ใน(สวน)นั้น จงจำไว้ว่า ผู้ปกครองทุกคนมีขอบเขตที่ต้องห้าม จงจำไว้เถิดว่า ที่อัลลอฮฺทรงห้ามนั้นคือสิ่งที่พระองค์ไม่ทรงอนุมัติ
จงจำไว้ว่า ในร่างกายนั้นมีเนื้อก้อนหนึ่ง เมื่อมันดี ร่างกายนั้นก็ดีด้วยแต่เมื่อมันเสีย ร่างกายก็จะเสียไปด้วย จงจำไว้ว่ามันคือ หัวใจ " (หะดีษนี้บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม)

(จาก http://www.az-sunnah.com/modules.php?name=News&file=article&sid=7 )

จากหะดีษข้างต้นเราได้บทเรียนว่า อาหารโดยทั่วไปนั้นหะล้าล นอกจากสิ่งที่มีความชัดเจนว่ามันหะรอม เช่น สัตว์ตายเอง, เลือด, สัตว์ที่ถูกเชือดเพื่ออื่นจากอัลลอฮฺ, สัตว์ที่เชือดโดยไม่ได้กล่าวพระนามของอัลลอฮฺ ฯลฯ จากคำถามถึงความกังวลต่ออาหารนั้น ถ้าหากมันชัดเจนว่ามีส่วนผสมจากสิ่งหะรอมในอาหารก็จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารนั้น ถ้าคุณไม่แน่ใจว่ามันหะรอมหรือไม่ (โดยปราศจากการกังวลเกินไปหรือการกระซิบกระซาบจากชัยฏอน)มันก็เป็นการดีกว่าที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้นเพื่อป้องกันไว้ก่อน ด้วยความยำเกรงอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้ยิ่ง

ชัยคมุฮัมมัดซอลิหฺ อัลมุนัจญิด


แปลจาก http://www.islam-qa.com/index.php?ref=210&ln=eng&txt=food

ไม่มีความคิดเห็น: