15.3.50

หะล้าล - หะรอม - มุชตะบิฮาต ??

หะล้าล (حلال) หมายถึง อนุญาต,อนุมัติ ในอัลกุรอานมักจะอยู่คู่กับคำว่า ฏ็อยยิบ (طيب) คือ ดี
ดังนั้นอาหารสำหรับมุสลิมก็คื อาหารที่อนุมัตและดี(ไม่มีโทษ)
ส่วน ตราหะล้าล ที่เราเห็นในผลิตภัณฑ์ทั่วไปนั้นมักจะเน้นไปที่ "อนุญาต" อย่างที่เราเห็นขนมหวานหลายชนิดมีตราหะล้าล ทั้งๆที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายสักเท่าไหร่ กินมากๆไปก็เกิดโทษอีก จึงตกเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องตรวจสอบอาหารที่จะให้เด็กๆบริโภค ให้มีทั้ง "หะล้าล" และ "ฏ็อยยิบ" จะยกให้เป็นหน้าที่ขององค์กรออกตราหะล้าลก็คงจะรบกวนเกินไป (ไม่ได้ประชดนะ)

อาหารทั่วไปในตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตที่หะล้าลโดยไม่ต้องมี "ตรา" รับรอง ได้แก่ เกลือ น้ำเปล่า ข้าว น้ำผึ้ง นมสด น้ำผึ้ง ข้าวสาร น้ำตาล ถั่ว ธัญพืช ฯลฯ อาหารเหล่านี้ไม่ได้ผ่านกระบวนการแปรรูปรับประทานได้แน่นอน (แต่ก่อนซื้อก็ดูซักหน่อยว่าเป็น สินค้าบอยคอต หรือเปล่า)

อาหารที่มุสลิมทำเองก็แน่นอนว่ารับประทานได้ อย่าไปสร้างความสงสัย เช่น ร้านอาหารมุสลิมขายอยู่ข้างร้านก๋วยเตี๋ยวหมู เราก็คิดไปเรื่อยว่าน้ำก๋วยเตี๋ยว
หมูมันจะกระเด็นลงในอาหารร้านมุสลิมไหม? หรือการใช้ภาชนะร่วมกันในศูนย์อาหาร ก็ไปสงสัยว่าเขาจะล้างสะอาดหรือไม่? ตัดสินเท่าที่เราทราบก็พออย่าไปนึกเอาเอง เพราะอิสลามนั้นง่าย อย่าทำให้มันยากเกินไป

ส่วนอาหาร หะรอม (حرام) ก็ตรงข้ามกับหะล้าล"คือ เป็นอาหารที่ไม่อนุมัติให้รับประทานตามหลักการอิสลามได้แก่

-
หมูและผลิตภัณฑ์จากหมู
-
สัตว์ที่ไม่ได้ฆ่าตามหลักการอิสลาม(ذبيحة)
-
สัตว์ที่ตายเอง(ยกเว้นสัตว์ทะเล) สัตว์ที่ถูกรัดคอ ถูกตีตาย ตกจากที่สูงตาย ถูกชนตาย สัตว์ร้ายได้กินมัน
-
อัลกอฮอล์และสารพิษ
-
สัตว์กินเนื้อ สัตว์มีเขี้ยว
-
เลือดและผลิตภัณฑ์จากเลือด
-
สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (กบ เขียด ฯลฯ)
-
ลาบ้าน ล่อ แมว

การผลิตอาหารในปัจจุบันจะมีการเติมสารปรุงแต่งอาหาร ซึ่ึ่งหลายชนิดผลิตจากสิ่งที่ไม่เป็นที่อนุมัติ(หะรอม) สารปรุงแต่งเหล่านี้แหละที่ทำให้อาหารที่น่าจะหะล้าลกลายเป็นอาหารที่น่าสงสัย(มุชตะบิฮาต/มัชบูหฺ/ชุบฮัต) เช่น เจลาติน, อีมัลซิไฟเออร์, เอนไซม์, กลีเซอรอล, ฯลฯ จึึงต้องมีการตรวจสอบเพื่อออกตราหะล้าลสำหรับอาหารที่ขายทั่วไปในตลาด โดยเฉพาะในบ้านเราซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับให้เขียนส่วนประกอบทั้งหมดของอาหารลงไป อะไรที่ใส่น้อยๆก็ไม่ต้องเขียน ซึ่งเราจะเห็นฉลากเขียนว่า "ส่วนประกอบโดยประมาณ" พอรวมกันแล้วไม่ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วที่เหลือเป็นอะไร ผู้บริโภคทั่วไปไม่ทราบหรอก แต่เมื่อมีองค์กรตรวจสอบอาหารเพื่อออกตราหะล้าล ผู้ผลิตก็จำเป็นต้องแจ้งส่วนผสมทั้งหมดให้ทราบและพาไปดูกระบวนการผลิตที่โรงงานด้วย เรียกว่าต้องตรวจสอบกันทุกขั้นตอนเพื่อความมั่นใจก่อนรับรองหะล้าล เพราะการจะบอกว่าอะไรหะล้าลอะไรหะรอมมีบทบัญญัติที่ชัดเจน เป็นอะมานะฮฺที่ยิ่งใหญ่ของคนที่ทำหน้าที่นี้ อย่าลืม !!!

ที่มา :
1. ifanca
2. halalgelatine
3.
หะดีษซอเฮี๊ยะฮ์ เล่ม 3
4.
ทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน

ผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องก็มะอัฟด้วย ติชมได้ไม่ว่ากัน เพราะ ศาสนาคือการตักเตือน



ไม่มีความคิดเห็น: